อวสานสายหวาน…เชื้อราขึ้นหน้า
ใครที่ชอบของหวาน ๆ กดออเดอร์สั่งทุกวัน ลองสังเกตตัวเองด้วยครับว่า
มีผื่นแดง เป็นขุย ๆ อาการคันบริเวณหน้าผาก หว่างคิ้ว รอบจมูก บ้างหรือเปล่าครับ หลายคนคิดว่าเป็นอาการแพ้ หรือระคายเคืองอะไรหรือเปล่า….รู้หรือไม่ครับว่านั่นคือ “เชื้อรา”
ทางการแพทย์เราเรียกว่า “ภาวะต่อมไขมันอักเสบ (Seborrheic Dermatitis) หรือ เซ็บเดิร์ม” ซึ่งภาวะนี้เจอได้เยอะมาก เรียกว่า 10 คน อาจเป็นโรคนี้ได้ 4-5 คนเลยทีเดียว
สรรสาระโดย นพ.วรุตม์ คุณาฤทธิพล (หมอช้อป)
– ปริญญาโท ตจวิทยา (ผิวหนัง)
– Dermatology Clinical Observership,
Jutendo University Hospital , Tokyo
– Fellowship in Anti-Aging Medicine
เซ็บเดิร์ม (Seb Derm : Seborrheic Dermatitis) คืออะไร ?
เซ็บเดิร์ม (Seb Derm : Seborrheic Dermatitis)
คือ โรคผื่นแพ้ผิวหนังจากต่อมไขมันใต้ผิว เกิดได้ทุกส่วนที่มีต่อมไขมันเยอะ เช่น หน้าผาก คิ้ว เปลือกตา รอบจมูก ใบหู หน้าอก แผ่นหลัง รังแคที่หนังศีรษะ หรือบางรายเป็นมาก ๆ อาจมีที่รักแร้ และ ขาหนีบได้เช่นกันครับ
อาการของเซ็บเดิร์ม
จะมีลักษณะเป็นผื่นแดง มีขุยหรือสะเก็ด และมีความมัน อาการมักจะเกิดขึ้น เป็น ๆ หาย ๆ (มักอักเสบเรื้องรัง) แล้วแต่สภาวะที่ผิวต้องเจอ ช่วงหน้าหนาวอาจมีอาการคันมากขึ้น
รูปตัวอย่างผื่นเซ็บเดิร์ม และ ตำแหน่งที่มักเกิด
สาเหตุการเกิดเซ็บเดิร์ม
ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดครับ แต่แยกได้เป็น 2 ปัจจัยคือ
ปัจจัยภายในร่างกาย
เช่น การเพิ่มจำนวนของเชื้อยีสต์ รา (กลุ่ม Malassezia spp.) ซึ่งอาจถูกกระตุ้นจากภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำลง มีความเครียด นอนดึก มีการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน ทำให้ต่อมไขมันผลิตไขมันออกมาเกินระดับปกติ ซึ่งเป็นสภาวะที่เหมาะสมให้เชื้อราเพิ่มจำนวนเติบโต จนทำให้ผิวหนังเกิดการอักเสบตามมานั่นเอง
ปัจจัยภายนอกร่างกาย
เช่น สภาพอากาศ ความชื้น ความร้อนที่เปลี่ยนแปลงไป หรือเหตุจากฝุ่นละออง ควันพิษ PM 2.5 การสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์ การกินอาหารหวานจัด (เช่น เค้ก ชานม น้ำอัดลม) อาหารทอดหรือมัน ขนมกรุบกรอบ นม ชีส โยเกิร์ต เป็นผลให้ต่อมไขมันผลิตไขมันเพิ่มได้
สรุปว่าการใช้ชีวิตทุกอย่างที่ไม่เฮลท์ตี้ ไม่ใช่แค่คนชอบของหวานเท่านั้น ก็สามารถกระตุ้นให้เกิดเซ็บเดิร์มได้หมดเลยครับ
รักษาเซ็บเดิร์มอย่างไร ?
1. ปรับไลฟ์สไตล์ให้เฮลท์ตี้ (สำคัญที่สุด!!) : เซ็บเดิร์มเป็นโรคเรื้อรัง มักไม่หายขาด ดังนั้นเราต้องหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นให้ได้มากที่สุด เช่น งดนอนดึก งดทานของหวานของทอด
2. ยาทา/ยากิน : หลักๆมักใช้ยา Ketoconazole ซึ่งเป็นยาฆ่าเชื้อยีสต์และรา เนื่องจากเซ็บเดิร์มเกิดจากยีสต์ที่เพิ่มจำนวนผิดปกติ การทายานี้จะช่วยปรับสภาพผิวให้กลับเป็นปกติ แต่ถ้าหากมีอาการแดง คัน ขุยมากอาจต้องใช้ยากินมาช่วยครับ
3. เลือกใช้สกินแคร์สูตอ่อนโยนต่อผิวหรือสำหรับผิวแพ้ง่าย โดยไม่มีส่วนผสมที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง เช่น AHA , Salicylic acid เป็นต้น และควรทาครีมชุ่มชื้นที่เสริมเกราะป้องกันผิวเพื่อลดการอักเสบร่วมด้วย
หากเราปรับการใช้ชีวิตแล้วยังคงมีผื่นแดง คัน ขุยขึ้นไม่หาย อาการต่อมไขมันอักเสบยังกำเริบหนัก ควรเข้าพบแพทย์เพื่อการรักษาที่ตรงจุดจะดีที่สุดครับ
สาระความงามที่เกี่ยวข้อง